Latest Movie :

ดูหนังออนไลน์ Mekhong Full Moon Party 15 ค่ำ เดือน 11

Mekhong Full Moon Party 15 ค่ำ เดือน 11



CR : RamaKamaXI

ภาพยนตร์เรื่อง " 15 ค่ำ เดือน 11 " เป็นภาพยนตร์ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านเนื้อหาและรายได้ เป็นภาพยนตร์ที่ได้ " ทั้งกล่องทั้งเงิน " และเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากมาย ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์และบทสนทนา (dialogue) กับ " ชนชั้นดูหนัง " ของสังคมไทย ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาผู้ซึ่งครอบครองภาพยนตร์ไว้เป็นมหรสพทาง ปัญญาของชนชั้นตน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ " อะไร " ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เป็นสิ่งที่ชนชั้นดูหนังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

๑๑๑๑๑๑๑๑

15 ค่ำเดือน 11 ดำเนินเรื่องด้วยการพาคนดูไปรู้จักกับ " คาน " เด็กหนุ่มลุ่มน้ำโขงจังหวัดหนองคาย สถานที่ซึ่งมีบั้งไฟพญานาคปรากฏขึ้นทุกปี คนดูได้รู้ว่า บั้งไฟพญานาคที่ปรากฏขึ้นทุกปีนั้น เกิดขึ้นจาก " ไข่พญานาค " ที่ผลิตขึ้นโดย " หลวงพ่อ " และพระลูกวัด และมีคานเป็นผู้นำไข่ไปวางไว้ที่ก้นแม่น้ำโขง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็คือช่วงเวลาออกพรรษา ไข่พญานาคทั้งหลายก็จะปรากฏเป็นบั้งไปพญานาคให้คนในย่านนั้นสักการะเป็นพุทธ บูชาสืบเนื่องมานับหลายปี

ที่ผ่านมา คานก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการกระทำดังกล่าว แต่ปีนี้ หลังจากที่คานเข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และพบว่าผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลมาดูบั้งไฟพญานาค สื่อมวลชนต่างประโคมข่าว มีคนได้ผลประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้มากมาย รวมทั้งมีคนต้องการพิสูจน์ว่าบั้งไฟนั้น แท้จริงแล้วคืออะไร คานจึงเริ่มสับสน และไม่ต้องการ " หลอก " ชาวบ้านอีกต่อไป... แต่หลวงพ่อไม่ได้คิดเช่นนั้น หลวงพ่อคิดว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นคือ การ " ทำหน้าที่ " ที่มีต่อพญานาคที่หลวงพ่อได้เคยพบ และเป็นการทำหน้าที่ดำรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพญานาคผู้ซึ่งถวายบั้งไฟ เป็นพุทธบูชา และศรัทธาที่ชาวบ้านยังคงมีต่อพญานาคก็คือศรัทธาต่อพระศาสนาที่จะดำรงสืบ เนื่องต่อไป

ยังมีอีกหลายคนที่คิดไม่เหมือนหลวงพ่อ หนึ่งในนั้นคือ " คุณหมอ " ผู้เป็นว่าที่ลูกเขยของหลวงพ่อนั่นเอง คุณหมอเชื่อว่า การเกิดขึ้นของบั้งไฟพญานาคคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่เกี่ยวกับพญานาคแม้ แต่น้อย คุณหมอจึงพยายามพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นตามที่คุณหมอเชื่อ ในขณะที่ " นักวิทยาศาสตร์ " อีกคนหนึ่งกลับเชื่อว่า บั้งไฟที่ว่านี้เป็นฝีมือของมนุษย์ และพยายามจะพิสูจน์ความคิดที่ว่าเช่นกัน...

แล้วเรื่องก็จบลงตรงที่ว่า คานไม่ได้ลงไปวางไข่ แต่หลวงพ่อต้องมาตายในขณะกำลัง " ทำหน้าที่แห่งศรัทธา " ด้วยการพยายามลงไปวางไข่ด้วยตัวเอง ขณะที่คุณหมอและนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองเชื่อ ได้... แต่ ณ ขณะนั้นเอง กลับปรากฏบั้งไฟพญานาคจำนวนมากมายเหนือลำน้ำโขง ดังเช่นที่เคยเป็นมา

๑๑๑๑๑๑๑๑



ชนชั้นดูหนังทั้งหลายย่อมไม่เชื่อว่าบั้งไฟที่ปรากฏขึ้นคือบั้งไฟพญานาค จริง ๆ แต่ก็ยังคงสงสัยว่า ในเมื่อไม่มีใครลงไปวางไข่ แล้วบั้งไฟเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และนี่กระมังที่เป็น " บทสนทนา " ของคนดูกับภาพยนตร์ และคนดูกับตัวเองในที่สุด เป็นบทสนทนาที่ตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า " ความจริงคืออะไร สิ่งที่เรามองเห็นอยู่นี้เป็นความจริงหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความจริง และอะไรคือความลวง "

ในทางวิชาการนั้น เสมอชัย (2544) กล่าวว่า วัฒนธรรมในการสร้างและแสวงหาความรู้และความจริงในโลกนี้ ถูกครอบงำด้วยกระบวนคิดที่เรียกว่า " วิทยาศาสตร์ "คำว่า (science) ที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นวิธีการเพียงวิธีการเดียวที่สามารถเข้าถึงความรู้ และความจริงได้อย่างเที่ยงตรง เนื่องเพราะวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการที่เป็นกลางและปราศจากค่านิยม ทางสังคมกำกับ รวมทั้งเป็นวิธีการที่เข้าถึงความรู้และความจริงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) หลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) คือ หลักฐานหรือข้อมูลที่สามารถรับรู้และตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส (sense data) ที่สามารถนำไปสู่ความจริงแบบสัมบูรณ์ (absolute truth) และวิธีคิดเช่นนี้เองได้ส่งผลให้ความรู้และความจริงใด ๆ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ (scientific method) เป็นความรู้และความจริงที่ไม่อาจยอมรับได้

ถึงแม้กระบวนคิดในแบบวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทนำในกระบวนการแสวงหาความรู้และ ความจริง แต่ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ก็กำลังถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และถูกนิยามใหม่ กล่าวคือ " วิทยาศาสตร์ " สามารถนิยามได้ใน 2 ลักษณะ คือ " 1) กิจกรรมเชิงประจักษ์ (empirical activities) ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ (systematic) เพื่อที่จะก่อร่าง (constructing) ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ศึกษา (Brunner 1982; Nespor and Barylsk 1991 อ้างใน Patterson and Williams 1998: 284)

และ 2) ความเห็นพ้องที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานทางปรัชญาร่วมกัน (normative philosophical commitments) ของชุมชนนักวิชาการ " ( อ้างแล้ว : 284) ซึ่งจากนิยามชุดนี้ ทำให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์สามารถเป็นได้ทั้งความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ เป็นระบบอย่างที่เคยถูกนิยาม และเป็น " ความเห็นร่วม " ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และนิยามในลักษณะหลังนี้เองที่กำลังบอกว่า กระบวนการแสวงหาความรู้และความจริงสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งแบบ ทั้งนี้เป็นเพราะ " ชุมชนนักวิชาการ " มิได้มีเพียงชุมชนเดียว และ " บรรทัดฐานทางปรัชญา " ก็มิได้มีเพียงแบบเดียวเช่นกัน

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ หรือความรู้และความจริงที่ถูกสร้างโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงความรู้และความจริงแบบสัมพัทธ์ (relative truth) ที่สร้างขึ้นจากการเชื่อมโยงหลักฐานเชิงประจักษ์ชุดใดชุดหนึ่งของชุมชนทาง วิชาการชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ วิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถเป็นอิสระจาก " หลักฐาน " ได้ และมีสถานะเป็นเช่น " เรื่องเล่า " (narrative) แบบหนึ่งเท่านั้น (เสมอชัย 2544)

ดังนั้น ถึงแม้คุณหมอและนักวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์สิ่งที่ตนเองคิดได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นจะเป็น " ความจริงสัมบูรณ์ " ขึ้นมาได้ และเมื่อมองความคิดชุดนี้สะท้อนกลับไปยัง " หน้าที่แห่งศรัทธา " ของหลวงพ่อ ก็จะพบว่า สิ่งที่หลวงพ่อเชื่อและทำก็มีสถานะเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ตามที่กล่าวมาข้าง ต้น คือเป็น " ความจริงสัมพัทธ์ " ในบริบทของหลวงพ่อ นั่นเอง

ความผันแปรและเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในปัจจุบัน อาจทำให้ชนชั้นดูหนังเริ่มตั้งคำถามว่า " ความจริง " ที่เคยรับรู้มานั้น ยังคงจริงอยู่หรือไม่ ดังนั้น การปรากฏขึ้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นการสนองตอบต่อ " ความรู้สึกร่วมสมัย " ส่งผลให้ภาพยนตร์ได้รับ " ทั้งเงินทั้งกล่อง " ตามที่กล่าว...

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามที่ว่า ถึงแม้วิธีคิดของภาพยนตร์จะตอบสนองต่อความรู้สึกร่วมสมัย แต่ชนชั้นดูหนังยอมรับได้หรือไม่ว่า พญานาคและศรัทธา เป็น " ความจริง " ...



อ้างอิง

เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544). วิทยาศาสตร์กับความจริงในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา.
Share this article :

Post a Comment

 
Support : | |
Copyright © 2014. Siam-Movie HD - All Rights Reserved
Template Created by Published by
Proudly powered by